

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง
เป็นความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรพม่ากับอาณาจักรอยุธยา ในการทัพคราวนี้ กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน ตรงกับวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 อันเป็นรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศแห่งอาณาจักรอยุธยา และพระเจ้ามังระของอาณาจักรพม่าแผนปฏิบัติการของกองทัพพม่าเริ่มจากการเข้าตีหัวเมืองทางเหนือ ทางตะวันตกและทางใต้ของอาณาจักรอยุธยา ก่อนจะเข้าปิดล้อมพระนครในขั้นสุดท้าย ส่วนผู้ปกครองอยุธยาเลือกที่จะใช้ยุทธวิธีตั้งรับอยู่ในกรุงในฤดูน้ำหลาก แต่เนื่องจากกองทัพพม่าได้เปลี่ยนยุทธวิธีของตนใหม่ จึงทำให้ยุทธวิธีของอยุธยาไม่ได้ผลอย่างในอดีต จนกระทั่งนำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาในที่สุด ภายหลังการปิดล้อมนาน 14 เดือน ซึ่งเป็นสาเหตุซึ่งนำไปสู่การเสียกรุงด้วยเหตุผลทางด้านยุทธวิธีจากการเสียกรุงในครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลให้อาณาจักรอยุธยา ซึ่งเป็นราชธานีของคนไทยกว่า 417 ปี ล่มสลายลงแล้ว ยังส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองในระดับต่างๆ จนแทบนำไปสู่การล่มสลายของรัฐไทยเลยทีเดียว ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงสร้างความเป็นปึกแผ่นและฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองของชาติขึ้นอีกครั้งในรัชสมัยของพระองค์ อันเป็นพระราชกรณียกิจหลัก
ก่อนการเสียกรุงครั้งที่สอง
สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ เมื่อยังไม่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ มีพระนามเดิมว่า กรมขุนอนุรักษ์มนตรี ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ โดยที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงพระราชดำริว่ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีเป็นผู้ซึ่ง ไม่มีความเหมาะสมที่จะขึ้นครองราชย์ ครั้นเมื่อสมเด็จพระมหาอุปราช บุตรองค์แรกต้องพระราชอาญาสิ้นพระชนม์ จึงทรงข้ามไปโปรดฯ ให้พระราชโอรสองค์ที่ 3 คือ เจ้าฟ้าอุทุมพร ทรงเป็นพระมหาอุปราชแทนพอสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ และเจ้าฟ้าอุทุมพรทรงราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรไม่ถึง 3 เดือน เจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรีก็ตั้งพระองค์เองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง ทำให้พระเจ้าลูกเธอทั้ง 3 พระองค์ไม่พอพระทัยคิดจะก่อกบฏ แต่ถูกจับได้จึงถูกประหารชีวิตทั้งหมด ส่วนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทรงตัดสินพระทัยด้วยเหตุผลส่วนพระองค์ไปผนวชเสีย
สภาพบ้านเมืองรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศ
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2301 เป็นรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีหลักฐานบรรยายสภาพบ้านเมืองในช่วงเวลานั้นอยู่หลายมุมมอง ซึ่งที่ปรากฏในพงศาวดารและหลักฐานไทยในสมัยหลังส่วนใหญ่อธิบายไว้ว่า ในรัชสมัยของพระองค์ ข้าราชการเกิดความระส่ำระสาย มีบางคนลาออกจากราชการ โดยบาทหลวงฝรั่งเศสได้เขียนจดหมายเหตุไว้ในตอนนั้นว่า "บ้านเมืองแปรปรวน เพราะฝ่ายใน (พระราชชายา) ได้มีอำนาจเท่ากับพระเจ้าแผ่นดิน ผู้มีความผิดฐานกบถ ฆ่าคนตาย เอาไฟเผาบ้านเรือน จะต้องได้รับโทษถึงประหารชีวิต แต่ความโลภของฝ่ายในให้เปลี่ยนเป็นริบทรัพย์สิน ริบได้ก็ตกเป็นของฝ่ายในทั้งสิ้น พวกข้าราชการเห็นความโลภของฝ่ายใน ก็แสวงหาผลประโยชน์กับผู้ต้องหาคดีให้ได้มากที่สุดที่จะหาได้ จะได้แบ่งเอาบ้าง ความเดือดร้อนลำเค็ญก็ยิ่งทับถมราษฎรมากขึ้น" เป็นต้น ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ถูกมองข้าม และมิได้มองว่าพระองค์มีความประพฤติเช่นนั้นเลย โดยมีบันทึกว่าพระองค์ "ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา บ้านเมืองสงบ การค้าขายเจริญ ทรงบริจาคทรัพย์ให้แก่คนยากจนจำนวนมาก" เป็นต้นในแง่เศรษฐกิจ เศรษฐกิจของอาณาจักรอยุธยามีความตกต่ำลงเนื่องจากของป่า ซึ่งเคยเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับรัฐบาลมานานนับศตวรรษ กลับส่งออกขายต่างประเทศได้น้อยลง อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านนโยบายทางการเมืองในประเทศ ซึ่งไม่เป็นมิตรกับชาวต่างชาติ และความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ลดลง โดยทั้งพ่อค้าจากมหาสมุทรอินเดีย จีน ญี่ปุ่น และชาติตะวันตกต่างก็ลดปริมาณซื้อขายลง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ระบบป้องกันอาณาจักรอ่อนแอก็เป็นได้
การรุกรานในสมัยของพระเจ้าอลองพญา
ในปี พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์อลองพญา ได้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ เพื่อแผ่อิทธิพลเข้าไปในมะริดและตะนาวศรี และกำจัดภัยคุกคามจากอยุธยาที่มักจะยุให้หัวเมืองพม่าที่อยู่ไกลกระด้างกระเดื่องอยู่เสมอ หรือไม่พระองค์ก็ทรงเห็นว่าอาณาจักรอยุธยามีความอ่อนแอนั้นเอง ซึ่งก่อนหน้านี้ อาณาจักรอยุธยาว่างศึกจากอาณาจักรพม่ามาเป็นเวลานานกว่า 150 ปีแล้วแต่ทว่ากองทัพพม่าไม่สามารถตีได้กรุงศรีอยุธยาได้ในการทัพครั้งนี้ เนื่องจากการสวรรคตของพระเจ้าอลองพญา อันทำให้กองทัพพม่ายกกลับไปเสียก่อน ซึ่งในหลักฐานของฝ่ายไทยและฝ่ายพม่าได้บันทึกไว้แตกต่างกันถึงสาเหตุการสวรรคต ฝ่ายไทยบันทึกว่าเป็นเพราะต้องสะเก็ดปืนที่แตกต้องพระองค์ ส่วนฝ่ายพม่ากล่าวว่า พระองค์ประชวรด้วยโรคบิดสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งเคยทรงตัดสินพระทัยปลีกพระองค์ไปผนวช ด้วยไม่มีพระราชประสงค์ในบัลลังก์ แต่ได้กลับมาราชาภิเษกอีกหนหนึ่งเพื่อบัญชาการรบในสมัยสงครามพระเจ้าอลองพญา ตามคำทูลเชิญของพระเชษฐานั้นด้วย แต่ในยามสงบ หลังจากกรุงศรีอยุธยาว่างศึกหลังจากสิ้นรัชสมัยพระเจ้าอลองพญาแล้ว พระเจ้าเอกทัศกลับทรงแสดงพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์อีก พระองค์จึงตัดสินพระทัยลาผนวชและไม่ยอมสึกหลังจากนั้นอีกเลย แม้ว่าในระหว่างการทัพคราวต่อมา จะมีราษฎรและข้าราชการทั้งหลายมีความต้องการให้พระองค์ลาผนวชกลับมาป้องกันบ้านเมืองก็ตาม พระองค์จึงทรงได้รับสมัญญานามว่า "ขุนหลวงหาวัด"
สาเหตุที่นำไปสู่การรุกรานในรัชสมัยพระเจ้ามังระ
ความคิดที่จะตีอาณาจักรอยุธยาของพระเจ้ามังระอาจมีนับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระเชษฐาในปี พ.ศ. 2306 โดยก่อนหน้านั้นพระองค์เคยเสด็จมาในกองทัพของพระเจ้าอลองพญาในการรุกราน ครั้งก่อนด้วย หลังจากที่เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ ด้วยความที่ทรงเคยมีประสบการณ์ในการรบครั้งก่อน จึงทำให้ทรงรู้จุดอ่อนของอาณาจักรอยุธยาพอสมควร และพระองค์ก็ได้ตระเตรียมงานเพื่อการสงครามได้อย่างเหมาะสมในรัชกาลของพระเจ้ามังระนั้น มีการปราบกบฏในแว่นแคว้นต่างๆ และพระองค์ก็ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องลดอำนาจของกรุงศรีอยุธยาลงจนแตกสลายหรืออ่อนแอจนไม่อาจเป็นที่พึ่งให้กับหัวเมืองที่คิดตีออกห่างได้อีก โดยมิใช่การขยายอาณาเขตอย่างเคย โดยในเวลาไล่เลี่ยกัน หัวเมืองล้านนาและหัวเมืองทวายที่ก่อกบฎและคิดตีออกห่าง ทำให้พระองค์ต้องส่งกองทัพไปปราบกบฎสำหรับสาเหตุด้านอื่นๆ ที่พอจะประมวลได้ เช่น การไม่ส่งตัวหุยตองจาคืนแก่พม่าเมื่อพม่าร้องขอมา (ตามความเข้าใจของชาวกรุงเก่า), ความต้องการเป็นใหญ่เทียบเท่าพระเจ้าบุเรงนองของพระเจ้ามังระ, การไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการของอยุธยา ซึ่งเป็นไปตามการตกลงหลังเสร็จสิ้นการรุกรานของพระเจ้าอลองพญา (ปรากฏใน The Description of the Burmese Empire) หรือไม่ก็พระเจ้ามังระทรงเห็นว่าอาณาจักรอยุธยามีความอ่อนแอ และสบโอกาสจะยกทัพเข้ามาปล้นเอาทรัพย์สมบัติเท่านั้น และยังเป็นการเตรียมตัวรับศึกกับจีนเพียงด้านเดียวด้วย
